ผอ.วิทยาลัยพระธรรมทูต มจร ร่วมเป็นวิทยากรสัมมนาวิชาการศาสนสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ชี้ความแตกต่างทางความเชื่อไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นพลังในการสร้างสรรค์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของศาสนาในฐานะพลังบวกต่อสังคม

วันที่ 12 กรกฎาคม 67 เวลา 13.30 น. ณ อาคาร 80 ปีหลวงพ่อธัมมชโย วัดพระเชตุพน นาริตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น การสัมมนาวิชาการศาสนสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำศาสนาในประเทศญี่ปุ่น การนี้ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต เป็นผู้แทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร เดินทางไปประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น สมัยสามัญครั้งที่ 1/2567 ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567

โดยมีพระราชรัชวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา พระญาณวชิรวงศ์ เลขานุการประธานสำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ, เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน นาริตะ เป็นประธานอำนวยการจัดงาน

พระราชรัชวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น กล่าวเปิดงานมีใจความสำคัญว่า ชื่นชมพระธรรมทูตไทยทำงานด้วยความเสียสละ ย้ำการเผยแผ่ต่างแดนผู้นำศาสนาต้องยึดพระวินัย ยึดหลักการ ความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมจริยา จะเป็นพื้นฐานสำคัญทำให้พระธรรมเทศนาในกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความเข้าถึงเข้าใจ ถือเป็นการสื่อธรรมสร้างความเข้าใจ การเคารพในความแตกต่าง แต่ร่วมมือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

หลังจากนั้นได้มีการสัมมนาฯ ดำเนินการเสวนา พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายโทชิหงิ ท่านได้เกริ่นนำ เชิญและนิมนต์วิทยากรตามลำดับ ดังนี้

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีภารกิจ และหน้าที่รับผิดชอบ สนับสนุนและส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความยินดีในการรับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ รองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น กล่าวว่า บทบาทของผู้นำศาสนาและกลไกการสื่อธรรมสำคัญที่จะทำให้การเผยแผ่ประสบความสำเร็จ คือการสอนให้รู้จักเป้าหมาย ทาน ศีล และภาวนา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติธรรม

พระมิซึทานิ เอคัง เจ้าอาวาสวัดเซนมะซัง ชินโชจิ โยโกฮาม่า ท่านกล่าวว่า บทบาทของผู้นำศาสนา เป็นกลไกในการบริหารความเชื่อ ความเห็นต่าง การสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนาในสังคมญี่ปุ่น เน้นการสื่อสาร ความร่วมมือ และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

พระครูสุตรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยธรรมทูต มจร กล่าวว่า ก่อนอื่น ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่อวัดพระเชตุพน นาริตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น และสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น ที่ได้จัดงานอันทรงคุณค่านี้ขึ้น เปิดโอกาสให้ มจร โดยวิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีโอกาสมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่ง นั่นคือ”ศาสนสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำศาสนาในประเทศญี่ปุ่น”

ท่านกล่าวตอนหนึ่งว่า โลกที่ไร้ซึ่งความเข้าใจระหว่างศาสนา โลกที่ผู้คนต่างศรัทธาไม่สามารถพูดคุยกันได้ โลกที่ความแตกต่างทางความเชื่อที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง แต่วันนี้เวทีสัมมนาที่ประเทศญี่ปุ่น ความเห็นส่วนตัวได้เห็นภาพตัวอย่างแนวทางหนึ่งของพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ประเทศที่ผู้นำศาสนาต่าง ๆ สามารถจับมือกันเพื่อแก้ปัญหาสังคมเป็นสังคมที่มีความแตกต่างทางความเชื่อที่ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นพลังในการสร้างสรรค์

คำถามทำไม ? ญี่ปุ่นถึงทำได้? อะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้นำศาสนาในญี่ปุ่นสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน? และที่สำคัญ เราจะเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของญี่ปุ่นเพื่อนำมาปรับใช้กับสังคมไทยของเราได้บ้าง?

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาในญี่ปุ่น กลไกและโครงสร้างที่ส่งเสริมศาสนสัมพันธ์ในญี่ปุ่น ทั้งการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาสนา (​Japan Religious League) การจัดตั้งสหพันธ์องค์กรศาสนาใหม่ของญี่ปุ่น และสภาศาสนาแห่งญี่ปุ่น อาจถือเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ ในญี่ปุ่น จึงเห็นภาพตัวอย่างของการจัดการประชุมประจำปีระหว่างผู้นำศาสนาต่าง ๆ การดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติร่วมกัน เช่น หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 และตัวอย่างการจัดสัมมนาและการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาร่วมกัน

นอกจากนี้ การรับรองเสรีภาพทางศาสนาในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น โรงเรียนรัฐบาลในญี่ปุ่นไม่สามารถจัดการเรียนการสอนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ รัฐบาลไม่สามารถให้เงินอุดหนุนแก่องค์กรศาสนาใดๆ โดยตรง ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ส่วนนี้ทำให้เห็นบรรยากาศของความเท่าเทียม และลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับศาสนา เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ

กลไกและโครงสร้างเหล่านี้ช่วยสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาศาสนสัมพันธ์ในญี่ปุ่น ทำให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ เห็นถึงบทบาทของผู้นำศาสนาในการสร้างความสัมพันธ์อันดี เช่นการจัดการประชุมประจำปีของ Japan Religious League ที่มีผู้นำจากพุทธศาสนา ชินโต คริสต์ศาสนา และศาสนาอื่นๆ เข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง หารือประเด็นสังคม และวางแผนความร่วมมือกัน

การดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างศาสนาและการริเริ่มโครงการร่วมกัน เช่น โครงการความร่วมมือด้านสังคมสงเคราะห์: โครงการ “Interfaith Disaster Response Network” เครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มศาสนาต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองหรือให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติ เป็นการแสดงถึงความร่วมมือข้ามความเชื่อทางศาสนาเพื่อจุดประสงค์ในการช่วยเหลือมนุษยชาติในยามวิกฤต ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของศาสนาในสังคม และเสริมสร้างความสามัคคี

ความท้าทายในการสร้างศาสนสัมพันธ์ในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างการลดลงของความเชื่อทางศาสนาในหมู่คนรุ่นใหม่ การสำรวจในปี 2018 พบว่า 70% ของคนญี่ปุ่นอายุ 20-29 ปี ไม่นับถือศาสนาใด สาเหตุอาจมาจากการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมบริโภคนิยม ความไม่เชื่อมั่นในสถาบันศาสนา คำถามสำคัญ ไทยและญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบ คือ ขาดศาสนทายาท ขาดผู้สืบทอดประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา และความเข้าใจระหว่างศาสนาลดลง

การประยุกต์ใช้แนวทางศาสนสัมพันธ์ของญี่ปุ่นในบริบทไทยทั้งสองประเทศมีพื้นฐานทางพุทธศาสนาร่วมกัน แต่บริบทต่างกัน ที่ความเหมือน คือ ทั้งไทยและญี่ปุ่นมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก ในส่วนความต่างคือ ญี่ปุ่นมีการผสมผสานกับชินโต ส่วนไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสถาบันศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไทยอาจศึกษาวิธีการของญี่ปุ่นในการสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาอัตลักษณ์ทางศาสนาและการเปิดรับความหลากหลาย

ประเด็นสุดท้ายท่านกล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางของศาสนสัมพันธ์ในอนาคต ท่านชี้ว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Interfaith Dialogue Online การสนทนาระหว่างศาสนาออนไลน์ของญี่ปุ่นเพื่อสร้างการสนทนาระหว่างศาสนา อาจเป็นโอกาสเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ขยายขอบเขตการสื่อสารข้ามพรมแดน และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวอย่างโครงการ “Green Faith Japan” ศรัทธาสีเขียวญี่ปุ่น หรือ ความเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น การต่อสู้ขององค์กรศาสนาต่างๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มุ่งเน้นประเด็นร่วมสมัย เช่น ความยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของศาสนาในฐานะพลังบวกต่อสังคม

การนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ในบริบทไทยต้องคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่หลักการพื้นฐานของการสร้างความเข้าใจ การเคารพความแตกต่าง และการร่วมมือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกสังคม พระครูสุตรัตนบัณฑิตกล่าวในตอนท้าย

พระบานะคะละ อุปติสสะ สมเด็จพระสังฆนายกศรีลังกาแห่งประเทศญี่ปุ่น ท่านกล่าวว่า ท่านอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น 48 ปี การศึกษาภาษา และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพื่อสร้างสัมพันธ์ทางศาสนา ทั้งนี้เพื่อแนะนำสมาธิให้กับชาวญี่ปุ่น การทำงานต้องทำงานเป็นทีมเป็นหมู่คณะ

คุณมณีฉาย ภัทรนาวิก ประธานที่ปรึกษาสมาคมพุทธรักษา กล่าวว่า สมาคมพุทธรักษา เป็นองค์การกุศล จัดตั้งขึ้นในปี พุทธศักราช 2549 เพื่อส่งเสริมการทำความดีให้กับสังคมสาธารณะ โดยในปี 2566 ได้ดำเนินการโครงการมอบทุน เปิดโอกาสให้เยาวชนชาวญี่ปุ่นผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ความดีพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น และการฝึกสมาธิ

พระมหาสิงหา ไข่อำพร ป.ธ. 9 หัวหน้าสมณทูต สปป.ลาว ประจำญี่ปุ่น กล่าวถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่จำกัดกาลทันสมัยอยู่เสมอ พรหมวิหาร 4 หรือ พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

คุณทาเคดะ อะคิโยะ ประธานชมรมสายสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น กล่าวสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดการความขัดแย้งทางศาสนาในสังคมโลก ผู้นำศาสนาหรือศาสนา ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างองค์กรศาสนา หรือระหว่างองค์กรศาสนากับชุมชน ทำให้เกิดสันติภาพ การส่งเสริมการเสวนาระหว่างศาสนา จึงเป็นการสร้างช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างชุมชนศาสนาต่าง ๆ เพื่อร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสังคม ลดความขัดแย้งผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าความแตกต่างทางศาสนา นอกจากนี้การส่งเสริมการศึกษาข้ามวัฒนธรรม โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนา การจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้และเข้าร่วมพิธีกรรมของต่างศาสนา เป็นการสร้างความเข้าใจและลดอคติระหว่างศาสนาในคนรุ่นใหม่ขอฝากกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการโดยสมาคมด้วย

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาศาสนสัมพันธ์ในทั้งสองประเทศ พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายโทชิหงิ ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวขอบคุณและสรุปในตอนท้าย

 

Scroll to Top