อธิการบดี มจร บรรยายนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรพระธรรมทูต ชี้กัลยาณมิตตาธรรมหรือครูตามธรรมชาติคือ “คุณสมบัติความเป็นพระธรรมทูต”

วันที่ 19 กันยายน 25660 เวลา 09.39 น. ที่ห้องพุทธเมตตา โซน D อาคารเรียนรวม มจร พระนครศรีอยุธยา พระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี ได้เมตตาบรรยายพิเศษ หัวข้อ เรื่อง “คุณสมบัติความเป็นพระธรรมทูตในพระไตรปิฎก” การนี้ พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน,ผศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรพระธรรมทูต ให้การต้อนรับปฏิสันถาร มีพระมหาประยูร โชติวโร,ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต กล่าวรายงาน

ในการบรรยาย พระเดชพระคุณกล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูต เกิดจากการที่ มจร ได้รับการมอบหมายงานจากคณะสงฆ์ให้รับผิดชอบโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ และมีการดำเนินการมาแล้ว 29 รุ่น มีการพัฒนาหลักสูตรในระดับต่าง ๆ ทั้งประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาก็ด้วยต้องการยกระดับการพระธรรมทูตให้สามารถสร้างสังคมสันติสุขและนำพุทธปัญญาสู่สากลได้ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งขออนุโมทนาฝ่ายกิจการต่างประเทศที่ได้ดำเนินงานในเรื่องนี้จนมีพัฒนาการที่ดีและประสบความสำเร็จตามนโยบายที่มหาวิทยาลัยกำหนด

คุณสมบัติความเป็นพระธรรมทูต คือ ความเป็นกัลยาณมิตตาธรรม มี 7 ประการ ดังนี้ (1) ปิโย คือ เป็นที่รักพระธรรมทูตนั้นจะต้องเป็นผู้ที่น่ารัก ผู้ใดได้พบเห็นแล้วอยากเข้าไปพบ สบายใจเมื่อได้พบป (2) ครุ คือ เป็นที่เคารพ พระธรรมทูตต้องเป็นผู้ประพฤติตนเหมาะสมแก่ฐานะของความเป็นพระธรรมทูต กระทำตนเป็นแบบอย่างทั้งพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ (3) ภาวนีโย คือ ผู้กระทำตนให้เป็นที่เจริญเป็นที่ยกย่อง มีความรู้และภูมิปัญญาอย่างแท้จริง กล่าวโดยสรุปใน 3 ข้อ คือต้องเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ และน่ายกย่อง ท่านยกตัวอย่าง พระพรหมมงคล(หลวงปู่ทอง) ท่านไม่ได้เป็นแค่นักวิชาการสื่้อธรรมะ แต่ท่านสอนและนำไปสู่การปฏิบัติ การเทศน์ การสอน การบรรยายเป็นความจำเป็นเบื้องต้น แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ (4) วัตตา คือ มีระเบียบแบบแผน พระธรรมทูตต้องสร้างศรัทธา คนสอนต้องเป็นตัวอย่างด้วย (5) วจนักขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ ต่อคำพูดพร้อมรับฟังข้อซักถาม ให้คำปรึกษาหารือ แนะนำ ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว (6) คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา คือ พูดเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่ายใช้คำพูดในการอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้ง มีความรอบรู้ในเรื่องที่จะพูด (7) โน จัฏฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อม

คุณสมบัติความเป็นพระธรรมทูต กล่าวโดยสรุป คือ เป็นผู้มีความน่ารัก น่าเคารพ น่ายกย่อง รู้จักพูดให้ได้ผล อดทนต่อถ้อยคำ แถลงเรื่องล้ำลึกหรือเรื่องที่ยากให้เข้าใจง่าย และไม่แนะนำในทางที่ไม่ดีไม่งาม พระธรรมทูต ต้องมีทักษะการสื่อสาร มีความเป็นปรโตโฆสะ เพราะเป็นวิถีทางเบื้องต้นแห่งปัญญาและสัมมาทิฐิ แต่ต้องใช้โยนิโสมนสิการคอยกำกับ เพื่อให้สามารถรู้แยกแยะและคัดสรรเฉพาะปรโตโฆสะฝ่ายดีได้ กล่าวโดยสั้นๆ พระธรรมทูต คือผู้รู้จักฟังเสียงจากผู้อื่นที่เป็นจริง มีเหตุผล และเป็นประโยชน์ รู้จักบริหารจักการตนเองให้รู้จักกาลเทศะให้มีคุณสมบัติไปทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ (1) Create content สร้างเนื้อหา (2) content design ออกแบบเนื้อหา (3) Present content นำเสนอเนื้อหา เพื่อสังคมสันติสุขและนำพุทธปัญญาสู่สากลได้

 

This will close in 20 seconds

Scroll to Top